วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ของกินกับของฝาก

ช่วงที่ผ่านมารู้สึกเหมือนกับว่างานยุ่งมาก ทั้งงานราษฎ์งานหลวง มะรุ้มมะตุ้มชีวิตเต็มไปหมด เลยไม่ได้เขียน blog เลย วันนี้ผ่านถนนที่ต้องผ่านทุกวันแต่เกิดปิ๊งความคิดอะไรบางอย่าง น่าสนใจจึงเอามาเล่าให้ฟัง

ถนนเส้นนั้นคือหนองมน ผมขับรถผ่านโดยวิ่งจากตัวเมืองชลไปทางศรีราชา เพื่อไปทำงาน เกิดความอยากกินข้าวหลาม ผมต้องกลับรถ พอซื้อเสร็จก็ต้องกลับรถไปทางศรีราชาใหม่

เลยคิดขึ้นมาได้ ทำไมจึงไม่มีร้านขายของฝั่งที่มุ่งไปพัทยา ศรีราชาเลย มีแต่ทางฝั่งกลับไปกรุงเทพฯ เข้าใจอย่างหนึ่งว่าของฝากก็ต้องซื้อไปฝาก จึงอยู่ฝั่งขากลับ (คนมาเที่ยวส่วนใหญ่มาจากฝั่งกรุงเทพฯ) แต่ความรู้สึกในใจบอกว่า แล้วคนที่มาเที่ยวพัทยา แต่เขาอยากกินข้าวหลาม ขนมจาก ปลาหมึกล่ะ "ก็ไม่ได้ซื้อไปฝากแล้วจะต้องกลับรถเพื่อซื้อแล้วค่อยไปเที่ยวต่อหรอ" นั่นเป็นความคิดในใจผม แล้วทีนี้จะทำยังไง

ความรู้สึกของคนมาเที่ยวแถวชลบุรี พัทยาก็อาจจะอยากกินเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องกลับรถ แถมช่วงวันหยุดรถเยอะ กลับรถก็ยาก เลยมีความคิดว่า ถ้าผมแหวกแนวเปิดร้านขายของอีกฝั่งหนึ่งจะมีกลยุทธอย่างไร

ก่อนอื่นเลยสโลแกนร้าน ผมจะขึ้นป้ายใหญ่ว่า "ร้านของ (ไม่) ฝาก" ด้านล่างเขียนว่า "ซื้อของฝากเชิญฝั่งโน้น ซื้อกินเองมาทางนี้" และนโยบายคือของไม่จำเป็นต้องถูก จะแพงก็ได้ถูกก็ได้ แต่เน้นว่าต้องอร่อย เพราะคนมาเที่ยว มากิน เขาก็อยากได้ของอร่อย เพราะฉะนั้นนโยบายคือคัดสรรอาหารที่มาขาย

หีบห่อไม่จำเป็นต้องสวย เพราะซื้อไปกินเอง ซึ่งต้องให้ความเข้าใจคนซื้อ โดยอาจจะติดป้ายว่า "บรรจุภัณฑ์ไม่สวย ไม่รวยก็ซื้อได้ คัดสรรมาจากใจ อยากให้ใครต่อใครชมว่ามีแต่ของดี"

วิธีนี้อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ คนที่ซื้อไปกิน เกิดติดใจ เวลาขากลับเขาก็อาจจะกลับมาแวะร้านเราอีกเพื่อซื้อเป็นของฝาก เพราะส่วนใหญ่คนซื้อของฝากมักจะไม่ค่อยได้กินสินค้านั้น ก็มักจะลังเลในใจว่าซื้อไปฝากเขา มันจะอร่อยไหม แต่ถ้าเขาซื้อไปกินแล้วชอบ เขาก็อยากจะซื้อสิ่งนั้นไปฝากคนอื่นเช่นกัน

ข้อมูลเหล่านี้ผมคิดไปเองนะครับ ไม่รู้ว่าถ้าทำจริงแล้วมันจะเวิร์คไหม แต่เป็นสิ่งที่ขัดใจอยู่เสมอ เมื่ออยากซื้อของไปกินแล้วต้องกลับรถ เห็นรถติดแล้วเบื่อครับ ^___^