วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2554

BAD sometime GOOD

วันก่อนผมได้ดูเดี่ยว 9 ของพี่โน๊ตอุดม ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ซื้อแผ่นแท้ก็ว่าได้ ก่อนหน้านี้ละอายตัวเองมาก เพราะดูเถื่อนมาโดยตลอด แต่พอเห็นผลงาน ความพยายามของพี่เขาแล้วผมยอมรับว่ากดปุ่มโหลดไม่ลงทีเดียว เอาน่าสนับสนุนพี่เขาหน่อยจะได้มีโชว์อย่างนี้ให้เราดูกันเรื่อยๆ

ดูเดี่ยว 9 แล้วก็นั่งขำในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พี่โน๊ตเล่าสมัยเด็กๆ พอมานึกมันเหมือนกับเรื่องที่เกิดกับเราเหมือนกัน แต่ที่มาสะดุดตรงช่วงที่กำลังจะจบ แล้วพี่โน๊ตเล่าเกี่ยวกับว่ามีคนดูถูกเขาเรื่องที่จะทำเดี่ยวในช่วงแรกๆ แล้วพี่โน๊ตก็พูดคำๆ นึงว่า BAD sometime GOOD ผมสะกิดใจคำนี้เลยมานั่งวิเคราะห์คำนี้ดู

เป็นอย่างที่พี่โน๊ตว่าจริงๆ ในเรื่องๆ เดียวกันมันก็มีทั้งในแง่ดี และแง่ร้าย มีทั้งประโยชน์ มีทั้งโทษ ซึ่งแล้วแต่คนจะมอง หรือแล้วแต่สถานะที่ยืนอยู่ เช่น กรณีที่ผลไม้ราคาถูกมาก จนชาวสวนออกมาประท้วงทุกปี ก็มีคนได้ประโยชน์ และคนเสียประโยชน์ แน่นอนว่าชวนสวนย่อมเสียประโยชน์ แต่สำหรับผู้บริโภคต้องยอมรับว่าได้ประโยชน์เต็มๆ

หรืออย่างเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา คนเดือนร้อนกันเป็นล้าน ก็ยังมีคนได้ประโยชน์จากเหตุการณ์นี้ เช่น เรือรับจ้าง ร้านขายเรือ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยมีคนคิดที่จะใช้เรือเป็นพาหนะในการโดยสาร หรือเรือที่ซื้อตุนไว้ ขายไม่ค่อยได้ มาขายได้ก็คราวนี้

เช่นเดียวกับชีวิตเรา บางครั้งเราเจอมรสุมชีวิตที่คล้ายจะกระหน่ำ โจมตีเรา จนทำให้เรานั้นแทบจะหมดแรง ไม่อยากมีชีวิตต่อ แต่เมื่อเราก้าวข้ามผ่านช่วงนั้นมาได้ เราจะขอบคุณเหตุการณ์เหล่านั้น ที่ทำให้เราได้เข้มแข็งขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น

แต่ถ้าเมื่อไรที่เราก้าวผิด ล้มลงไป หมดสิ้นทุกอย่าง อาจจะมองดูว่าไม่มีอะไรดี แต่สิ่งนั้นก็ทำให้เราได้รู้ว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดพลาด และจะเป็นประสบการณ์ให้กับเรา และคนที่มองดูเราอยู่ด้วยเช่นกัน

ทุกสิ่งทุกอย่างมี 2 ด้านเสมอ อยู่ที่มุมมอง วิสัยทัศน์ ประสบการณ์ และสถานะที่คนๆ นั้นยืนอยู่ อย่าไปต่อว่าคนอื่นว่าทำไมเขาต้องทำแบบนั้น แบบนี้ แต่จงถามตัวเองว่าถ้าเราอยู่ในเหตุการณ์ และมีสถานะเดียวกับเขา เราจะตัดสินใจอย่างไร ในกรณีที่มีภาวะแรงกดดันอันมหาศาลเช่นเดียวกัน

วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เหตุผลที่คนทำบุญ

บทความนี้เกิดจากที่ผมได้ดูละครหลายๆ เรื่อง ซึ่งอาจจะตรงกับชีวิตจริงหรือไม่นั้นไม่รู้ ที่รู้คือมันเป็นเหตุผลที่ใช้ได้เลยทีเดียว การทำบุญที่ผมพูดถึงนี้คือการทำบุญที่วัด ไปตักบาตร ทำทานด้วยเงิน หรือสิ่งของ ผมไม่รวมถึงการที่ไปลงแรงช่วยเหลือคนตอนน้ำท่วม หรือจูงคนแก่ข้ามถนนนะครับ เพราะตรงนั้นผมเชื่อว่ามีบางคนทำเพราะไม่ได้หวังอะไร ไม่มีเหตุผลที่จะทำ เพียงแค่ทำแล้วสบายใจแค่นั้น

ที่ผมจะพูดถึงคือการทำบุญแบบที่ต้องไปทำที่วัด ตักบาตร ทำทาน สวดมนต์ อะไรประมาณนี้นะครับ การที่คนเราจะทำอะไรเหล่านี้ผมว่ามันมีเหตุผลของมันอยู่ ซึ่งผมขอแบ่งเหตุผลออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ

เหตุผลแรกเป็นเหตุผลที่คนส่วนใหญ่เป็น รวมทั้งผมด้วย อาจจะเรียกได้ว่าชาวพุทธที่ศึกษาธรรมะส่วนใหญ่เป็นแบบนี้ก็ว่าได้ นั่นคือเหตุผลที่ว่าต้องการให้บุญกุศลที่กระทำ ทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะปรากฎให้เห็นในชาตินี้หรือชาติหน้าก็ตาม ในบางคนที่เคร่งครัด และปฏิบัติ เป้าหมายของเขาคือโลกุตตรธรรม 9 ซึ่งนิพพานถือเป็นเป้าหมายสุดท้ายของชาวพุทธ

เหตุผลนี้จริงๆ แล้วควรจะเป็นเหตุผลเดียวที่คนทำบุญ แต่จากที่ผมอาศัยอยู่ในโลกนี้มากว่า 27 ปี ทำให้รู้ว่าในโลกนี้มีอีก 2 เหตุผลที่คนทำบุญ คือ คิดว่าการบุญจะลบล้างความผิดที่ก่อเอาไว้ได้ กับอีกเหตุผลหนึ่งคือทำบุญเพื่อเอาหน้า

คนที่คิดว่าการทำบุญจะลบล้างความผิดที่ก่อเอาไว้ได้นั้น ผมเข้าใจว่ามันไม่ได้ลบล้างกันได้ กรรมชั่วที่ก่อไว้ยังไงก็คือกรรมชั่ว กรรมดีที่ก่อไว้ยังไงมันก็คือกรรมดี มันแยกกันอยู่ ผลกรรมชั่วที่ทำจะส่งผลกับเราก่อน และเมื่อกรรมชั่วที่ได้ทำไว้ถูกชดใช้หมด กรรมดีก็จะทำงานเหมือนสับสวิทอัตโนมัติ คนที่ทำดีแต่ไม่ได้ดีสักที นั่นแปลว่ากรรมชั่วที่ทำมาในชาติก่อนยังชดใช้ไม่หมดนั่นเอง

เหตุผลนี้ยังพอเข้าใจได้ ถึงแม้คนที่เชื่อในเหตุผลนี้จะเข้าใจผิดก็ตาม แต่เหตุผลสุดท้ายเป็นเหตุผลที่ผมยากจะรับได้ นั่นคือทำเพื่อเอาหน้า หรือเพื่อรักษาภาพลักษณ์ ยกตัวอย่างหนังที่ผมดูคือ 5 คม (เก่ามากละ เพราะไม่เคยดูหนังนาน จำได้แต่เรื่องนี้ ^^) ตัวร้ายทำธุรกิจมืด แต่หน้าฉากทำตัวเป็นนักบุญ ทำบุญ ทำทาน เพียงเพื่อให้คนอื่นไม่สงสัยในตัวของเขา อย่างนี้เขาเรียก "ซาตานในคราบนักบุญ"

เหตุผลเดียวกันจะเป็นประเภททำเพื่อธุรกิจ มีกลยุทธ์หนึ่งผมเรียกว่ากลยุทธ์ "ทุ่มทุนเพื่อเอาหน้า" นั่นคือกลยุทธ์ CSR ยกตัวอย่างการบริจาคของให้กับคนบางกลุ่ม เช่น คนยากจน หรือนักเรียน โดยป่าวประกาศให้คนทั้งประเทศรู้ด้วยว่าเราทำอะไร จริงๆ ผมไม่ได้รังเกียจกลยุทธ์นี้นะครับ เพราะคนที่เดือนร้อนก็ได้รับการช่วยเหลือจริงๆ แต่บางทีมานั่งนึกว่าถ้าคนทำไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย เขาจะยอมช่วยไหมแค่นั้น

ผมเลยรู้สึกว่าปัจจุบัน มีเหตุผลที่บิดเบือนมากมายที่จูงใจให้คนมาทำบุญ แต่สำหรับชาวพุทธทั้งหลาย ที่ได้เคยศึกษาธรรมะ หรือเคยปฏิบัติก็ตาม เป้าหมายของเราชาวพุทธคือการก้าวเข้าสู่นิพพาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากเสียยิ่งกว่ายาก ในโลกที่มีแต่กิเลสคอยยั่วยวนให้เราก้าวขาออกนอกทางสายกลางอยู่เสมอ

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เมื่อคนตัวใหญ่ต้องกลายมาเป็นนักพัฒนาตัวน้อย

ถึงแม้ว่าผมจบสาขาไอทีมา เขียนโปรเจ็คตอนจบ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่เคยเขียนโปรแกรมที่ใช้งานได้จริงมาก่อน ซึ่งหลังจากจบมาก็ไม่เคยเขียนโปรแกรมอีกเลย พาลจะลืมๆ มันไปแล้วด้วย

แต่ตอนนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนโปรแกรม ถึงแม้ว่าเป็นภาษาเบสิกก็ตาม ก็ถือว่าเริ่มจะเป็นโปรแกรมเมอร์น้อยๆ เหมือนกัน ผมเริ่มเขียนมาโครบน LibreOffice มาประมาณไม่ถึงเดือน ตอนแรกก็รู้สึกว่า "ทำได้ไหมนะ" "ยากไหมหว่า" แต่ก็อยากทำจึงเริ่มลงมือ

พอเขียนไปเขียนมาชักเริ่มสนุก ไม่รู้ว่าโค้ดที่เราเขียนซับซ้อนไปไหม แต่พอเขียนไปเทสไปแล้ว ผลลัพธ์ออกแล้วมันสนุก (แต่ถ้าไม่ได้ผลลัพธ์ก็ไม่สนุกเหมือนกัน) เลยรู้สึกว่างานที่เราชอบคงเป็นงานที่ท้าทาย งานที่ได้รับปัญหามาแล้วต้องมานั่งวิเคราะห์แก้ไข พอแก้ไขได้แล้วรู้สึกดี ไม่เฉพาะงานเขียนโปรแกรมนะ จะรู้สึกสนุกกับงานประเภทนี้ทุกงาน เพราะพอแก้ไขได้แล้วมันสะใจ ^^

อาชีพโปรแกรมเมอร์เป็นงานที่ผมรู้สึกว่าเคยตั้งเป็นเป้าหมายไว้ตอนที่เริ่มเรียนในสาขาไอที พอตอนนี้ได้กลับมานึกถึงมันอีกครั้ง รู้สึกเหมือนมานั่งไล่ตามความฝันที่ได้ทิ้งมันไปนานมากอีกครั้ง

แต่ผมคงเป็นโปรแกรมเมอร์ได้เป็นครั้งเป็นคราว เพราะงานที่ทำมันสำคัญกว่า และก็สนุกเหมือนกัน เพียงแต่ให้คนละความรู้สึก แต่ถ้าจะได้กลับมาเป็นโปรแกรมเมอร์อีกก็โอเคนะ ^___^

ลองนึกถึงตอนที่เขียนโปรแกรมตัวแรกดูครับว่าตอนนั้นรู้สึกยังไง อาจจะรู้สึกเหมือนผมตอนนี้ก็ได้นะ ^^