วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2554

โอเพนซอร์สในต่างประเทศเมื่อเทียบกับไทย

ก่อนหน้านี้ช่วงที่ผมได้ไปงาน OOoCon2010 ที่ฮังการี ได้มีโอกาสเจอคนญี่ปุ่นอยู่คนหนึ่ง และหลังจากนั้นก็ไม่เคยได้คุยกันอีก จนกระทั่งวันก่อนได้รับ add friend ในเฟสบุคจากเพื่อนญุ่ีปุ่นคนนี้ จึงรับและคุยกัน

เขาถามผมว่าจำเขาได้ไหม ซึ่งแน่นอนจำได้อยู่แล้ว เพราะตอนอยู่ที่ฮังการีก็มีเขานี่แหละที่ผมคุยด้วย คนอื่นๆ ผมไม่ได้คุยเลย

เลยได้คุยกันเกี่ยวกับแนวโน้มโอเพนซอร์ส ซึ่งผมเล่าเคสในบ้านเราว่าช่วงนี้คนเริ่มสนใจกันเยอะ ในเมืองไทยเพิ่งจะเริ่มสนใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากเอกชนก่อน ซึ่งในเมืองไทยภาครัฐไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าไร เลยไปได้ช้า

ผมจึงถามเขาว่าแล้วในญี่ปุ่นละ เป็นยังไงบ้างเรื่องโอเพนซอร์ส เขาบอกว่าก็ดี แต่ทางญี่ปุ่นภาครัฐในระดับท้องถิ่นเริ่มก่อน ภาครัฐในระดับประเทศไม่มีกระแสเท่าไร เพราะมีเงิน แต่ในท้องถิ่นต้องเริ่มเพราะไม่อย่างนั้นไม่ไหว

จุดนี้เป็นจุดที่แตกต่างกับของเมืองไทย เพราะที่ญี่ปุ่นการเมืองท้องถิ่นไปแล้ว เพราะค่าใช้จ่ายด้านไลเซนส์สูงแต่เมืองไทย ว่าตรงๆ คือคงใช้ละเมิดกันอยู่ เลยไม่คิดที่จะไปโอเพนซอร์ส

ส่วนการเมืองระดับประเทศเขารวย เลยไม่คิดเรื่องโอเพนซอร์ส แต่ของเราคงเป็นประเด็นเดิมคือการละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเอง

เขาบอกว่าที่รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ไปโอเพนซอร์สเพราะเกรงว่ามีความเสี่ยง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่หลายๆ ที่ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนในบ้านเราเป็นเหมือนกันคือกลัวความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ผมบอกเลยว่าเสี่ยงไหมที่จะเปลี่ยนเป็นโอเพนซอร์ส เสี่ยงจริงครับ ถ้าไม่วางแผนให้ดี การเปลี่ยนไม่ใช่ว่าเปลี่ยน 100% ถามว่าเรามีเงิน 100 บาท อยากประหยัดต้องไม่กินข้าว แล้วเหลือเงิน 100 บาทเลยไหม คำตอบคือไม่ใช่ เรามี 100 อยากประหยัดยังไงก็ต้องกิน แต่กินให้พออยู่ เช่นกิน 50 เหลือเก็บ 50 ถึงจะถูก

เพราะฉะนั้นการประหยัดไม่ใช่ประหยัดแบบไม่คิดจะจ่าย เราควรจ่ายให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้ การใช้โอเพนซอร์สก็เหมือนกัน เราควรวางแผน เพื่อลดความเสี่ยง อะไรเปลี่ยนได้ก็เปลี่ยน อะไรเปลี่ยนไม่ได้ จำเป็นต้องซื้อก็ซื้อ การใช้โอเพนซอร์สต้องประเมินก่อนว่าทำได้แค่ไหน ไม่เช่นนั้น การเปลี่ยนมาใช้โอเพนซอร์ส ก็ไม่ต่างอะไรกับการตะเกียกตะกายหาของล้ำค่ามาแต่ใช้ไม่เป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น