วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ข้อแตกต่างระหว่าง Open Source กับ Freeware

รูปแบบไลเซนส์นั้นมีอยู่หลายรูปแบบมาก หลายคนจะสับสนว่า Freeware กับ Open Source ก็ใช้งานฟรีเหมือนกัน แล้วแตกต่างกันอย่างไรสำหรับไลเซนส์ 2 แบบนี้

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องไลเซนส์มาก่อน ผมจะขอเล่าเกี่ยวกับไลเซนส์สำหรับซอฟต์แวร์ให้ฟังสักเล็กน้อย ไลเซนส์ความหมายคือ สิทธิ์ที่ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ อนุญาตให้ผู้ใช้ใช้งานได้ตามขอบเขตที่เจ้าของสิทธิ์จะอนุญาต เช่น อนุญาตให้ใช้งาน หรือเผยแพร่ รูปแบบไลเซนส์หากแบ่งย่อยจะมีหลายรูปแบบมาก แต่ผมจะแบ่งตามหลักๆ ได้ 5 ประเภท

1. Proprietary Software
2. Trialware (Shareware)
3. Freeware
4. Crackware
5. Open Source Software

1. Proprietary Software หมายถึงซอฟต์แวร์ที่วางขายตามท้องตลาด เช่น MS Windows, MS Office, Adobe Photoshop, AutoCAD ซอฟต์แวร์เหล่านี้คุณภาพสูง แต่จะคิดค่าไลเซนส์ โดยปรกติคิดราคาต่อเครื่อง ทำให้ซอฟต์แวร์ประเภทนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่เป็นกลุ่มซอฟต์แวร์ที่ได้รับความนิยมที่สุด

2. Trialware (Shareware) เป็นซอฟต์แวร์ที่ให้ทดลองใช้ก่อนจะตัดสินใจซื้อ วิธีสังเกตุซอฟต์แวร์ประเภทนี้คือ จำกัดความสามารถ ใช้งานได้ตามวัน เวลาที่กำหนด หากทดลองใช้แล้วประทับใจสามารถสั่งซื้อได้ภายหลัง ซอฟต์แวร์ประเภทนี้ถือว่าแฟร์ เพราะให้ทดลองใช้ก่อน เพราะหากไม่ได้ทดลองใ้ช้ แต่ซื้อมาแล้วใ้ช้ไม่ได้ จะทำให้เสียดายเงินที่ซื้อมา

3. Freeware ซอฟต์แวร์ประเภทนี้ใช้งานได้ฟรี แต่บางครั้งมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ใช้ได้เฉพาะส่วนบุคคล ห้ามใช้ในเชิงพาณิชย์ หากต้องการใช้เชิงพาณิชย์ จะมีเวอร์ชันที่ผู้พัฒนาเตรียมไว้ขาย ซอฟต์แวร์ประเภทนี้ต้องระวังหากใช้ในองค์กร ควรจะศึกษาไลเซนต์ให้ดีเสียก่อน ยกตัวอย่างไลเซนส์ของ Adobe Reader โปรแกรมที่ใช้อ่านไฟล์ PDF เป็น Freeware อนุญาตให้ใช้งานได้ฟรี แต่หากไม่อ่านไลเซนส์ดีๆ จะผิดไลเซนส์ได้ง่าย เพราะ Adobe Reader ไม่อนุญาตให้ติดตั้งผ่าน Server ได้ นั่นคือ เราไม่สามารถนำตัวติดตั้งมาวางไว้บน Server ขององค์กรแล้วให้พนักงานดาวน์โหลดได้ หากทำเช่นนั้นถือว่าผิดไลเซนส์



4. Crackware เป็นประเภทที่ได้รับความนิยมมากในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นั่นคือเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ซอฟต์แวร์ประเภทนี้หากใช้งานจะเปรียบเสมือนโจรที่ลักลอบใช้งานโดยไม่เสียเงิน ส่วนใหญ่จะนำ Proprietary Software มา Crack แล้วใช้งาน หากถูกจับในกรณีละเมิดลิขสิทธิ์ถือเป็นความผิดกฎหมายอาญา จะเสียทั้งเงิน ชื่อเสียง และเสียประวัติ

5. Open Source Software ซอฟต์แวร์ประเภทนี้จะเป็นซอฟต์แวร์ที่อนุญาตให้ใช้งานอย่างอิสระ ไม่ใช่ว่าไม่มีลิขสิทธิ์ โอเพนซอร์สมีลิขสิทธิ์ แต่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถใช้งาน ก๊อปปี้ เผยแพร่ หรือแก้ไขตัวซอฟต์แวร์เองได้

ความแตกต่างระหว่าง Open Source Software กับ Freeware คือ Freeware ถึงแม้จะฟรี แต่หากใช้งานจำเป็นต้องอ่าน EULA (End User License Agreement) ให้ดีเสียก่อน EULA คือข้อความอธิบายไลเซนส์ เป็นขั้นตอนหนึ่งที่พบบ่อยๆ ตอนติดตั้งซอฟต์แวร์ เราจำเป็นต้องกดยอมรับก่อนแล้วจึงจะทำการติดตั้งได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีใครยอมอ่าน :)

แต่สำหรับ Open Source Software เราสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่มีอะไรแอบแฝง ไม่มีข้อบังคับในการใช้งาน ทำให้ใช้งานสะดวกกว่า Freeware

ผมจึงคิดว่า Open Source Software เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้อย่างอิสระ เข้าใจง่าย เปิดเผย และไม่ต้องกลัวเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น